วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

R3 : เปิดเส้นทางสินค้าเกษตรปลอดภัย รับการขยายตัวภาคการเกษตรในอนาคต

    
     จากการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้มีการขยายตัวทางการค้าผลไม้ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นไม่ต่ำว่า 10 % มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทแล้ว ผู้บริโภคทั้งสองประเทศยังสามารถมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่ผ่านเข้าออกจากเส้นทาง R3 จะเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยจากต้นทางทั้งสองประเทศ
          สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลเรื่องความปลอดภัยอาหารของประเทศ ได้จัดทำพิธีสารข้อกำหนดในการเจรจากับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ซึ่งกล่าวถึง ชนิดของผลไม้และข้อมูลที่ทั้งสองฝ่ายต้องส่งให้แก่กันในกรณีมีการร้องขอ วิธีการขนส่งผลไม้ระหว่างกัน มาตรการก่อนการส่งออก (ได้แก่ การตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช การรับรองแหล่งกำเนิดของผลไม้ การปิดผนึก ตู้สินค้า การแสดงหมายเลขกำกับผนึกปิดตู้สินค้าการเพิ่มเส้นทางการขนส่ง และมาตรการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะมีการลงนามดังกล่าว เพื่อให้ทั้งสองประเทศมั่นใจถึงความปลอดภัยในผลไม้ที่ผ่านเข้าออกสู่ผู้บริโภคในประเทศ
          จากข้อตกลงและความร่วมมืออันดีระหว่างสองประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางบก จึงได้มอบหมายให้ มกอช. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาประเมินผลการเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกตามเส้นทาง R9 R3 และประเมินศักยภาพการเปิดเส้นทางขนส่งอื่น ๆ เช่น เส้นทาง R12 ไทย(นครพนม)-นาพาว(ลาว)-จาลอ-วิงห์-ฮานอย(เวียดนาม)-จีน(ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) หรือ เส้นทาง R8 ไทย(กรุงเทพฯ-หนองคาย) – ปากซัน – น้ำทอน(ลาว) – เกาแจว-วิงห์-ฮานอย(เวียดนาม)-จีน(ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) รวมทั้งศึกษาถึงข้อดี/ข้อเสียของการเปิดเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำโขง และพิจารณาการขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ผัก สินค้าประมง ระหว่างกัน ผ่านเส้นทางขนส่งทางบกสายต่าง ๆ และรวมถึงการขนส่งทางน้ำอีกด้วย
หากมองในแง่ของโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับจีนแล้ว ไทยมีศักยภาพการผลิตของสินค้าหลายชนิดที่ยังคงได้เปรียบที่สามารถผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเทียบกับประเทศจีนและคู่แข่งขัน ซึ่งตลาดจีนจะเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวการส่งออกของไทยได้ เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมาก ประมาณ 1,341 ล้านคน และเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีเสถียรภาพ รายได้ของประชากรดีขึ้น โดยเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง หนานหนิง ฟูเจียน เซียะเหมิน ปักกิ่ง และเฉินตู เป็นต้น นับเป็นโอกาสในการเจาะตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดเส้นทางในการการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีนจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออก และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น