แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีการเปิดเสรีมากขึ้น ทำให้มาตรการทางภาษีลดน้อยลงจนอาจเป็นศูนย์ และทำให้มาตรการอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษี ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น อาทิ สุขอนามัย และสุขอนามัยพืช มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานมาโดยตลอด นอกจากนั้น ยังมีการขับเคลื่อนด้านดังกล่าวทั้งระบบผ่านยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร พ.ศ. 2553-2556 ซึ่งจะเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่ระดับไร่นา ไปจนถึงโรงงานแปรรูป อันจะทำให้ทุกฝ่ายรับประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเมื่อสินค้ามีคุณภาพ ผู้บริโภคก็จะเกิดความเชื่อมั่น ราคาผลผลิตจะปรับสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ประสานความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ 5 ผู้ประกอบการ ได้แก่ กลุ่มบริษัทในเครือเบทาโกร จำกัด (มหาชน) สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด บริษัท ธานียามา สยาม จำกัด บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด และบริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด ร่วมกันพัฒนาระบบการใช้รหัสมาตรฐานสากล แบบ 1D และ 2D บาร์โค้ด (QR Code) บนกล่องบรรจุสินค้าเกษตรและอาหารส่งออก ภายใต้โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารตามาตรฐานสากล โดยนำร่องในสินค้า 2 ชนิด คือ ไก่ และมะม่วงเพื่อการส่งออก จำนวนเกษตรกร 675 ราย โดยคาดว่าในปีต่อ ๆ ไปจะเพิ่มขึ้นทั้งชนิด สินค้า และจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการใช้รหัสมาตรฐานสากลแสดงที่แปลงสินค้าเกษตรแบบ 1D และ 2D บาร์โค้ดบนกล่องสินค้านี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตามสอบถึงแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิตสินค้าได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเรียกดูข้อมูลได้ทันที นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าและผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงยังเป็นการสร้างจุดแข็ง และเพิ่มข้อได้เปรียบในการเจรจาการค้ากับประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพ ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกและคู่ค้ารายสำคัญของไทย
โครงการนี้สามารถรองรับการกำหนดแหล่งที่ตั้งของแปลงเกษตรกรหรือสินค้าเกษตรในอนาคตได้มากถึง 9,999,999 แปลง/ชนิด โดย มกอช. เป็นผู้บริหารจัดการระบบหมายเลขรหัส ซึ่งกำลังขยายผลการนำระบบตามสอบสินค้า (Traceability) ด้วยรหัสมาตรฐานสากลแบบ 1D และ 2D บาร์โค้ด (QR Code) ไปใช้กับเนื้อวัว และเนื้อหมู ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่หากมีระบบการตามสอบที่ทันสมัย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ส่งออกและผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น