วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สถาบันอุดมศึกษากับบทบาทของเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในเรื่องของการเป็นแหล่งผลิตบุคลากรคุณภาพทางการเกษตร ที่ก้าวเข้าสู่สังคมด้วยการเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าด้านวิชาการทางการเกษตรทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวจึงมีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัย และการจัดการกระบวนการผลิตในฟาร์มให้แก่นิสิต นักศึกษา ผู้นำเกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ/เอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกร หรือแม้กระทั่งผู้ตรวจประเมินภายในของกลุ่มเกษตรกรเอง เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป
ในปัจจุบัน มาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice : GAP)  จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และยังเป็นการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และความปลอดภัย  ช่วยเสริมจุดแข็งให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เกษตรกรจึงให้ความสนใจยื่นขอการรับรองฟาร์มมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากการกระบวนการรับรองมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียน การถ่ายทอดความรู้ การคัดเลือกเบื้องต้น การตรวจ และการรับรอง ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้เพิ่มทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร ด้วยการจัดทำโครงการการรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรชนิดเดียวกันเข้าสู่ระบบมาตรฐานทางการเกษตรพร้อมกันหลาย ๆ ฟาร์ม โดยนำหลักการควบคุมภายใน (International Control System : ICS) จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ International Federation of Agriculture Movements (IFOAM) มาปรับประยุกต์ใช้ควบคู่การผลิตสินค้าเกษตรตาม GAP ซึ่งหากโครงการประสบความสำเร็จ ภายในปี 2554 ก็จะมีกลุ่มเกษตรกรไม่น้อยกว่า ๒๐ กลุ่ม ผ่านการรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม
          นอกจากนี้ มกอช. ยังหาทางเลือกเพิ่มเติม โดยมุ่งเป้าไปที่สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการทางการเกษตร โดยเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเข้ามาเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ที่สามารถตรวจประเมินการจัดทำระบบมาตรฐานต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมหรือฟาร์มเกษตรกร และให้การรับรองระบบ รวมทั้งออกใบรับประกันสุขภาพพืชและใบรับประกันสุขภาพสัตว์เพื่อการส่งสินค้าออกได้ ซึ่งหากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพเหล่านั้น สามารถผ่านการรับรองระบบงานจาก มกอช. จนสามารถเป็นหน่วยรับรองได้แล้ว ก็จะช่วยกระจายจำนวนเกษตรที่ยื่นขอรับรองฟาร์มมาตรฐาน และขยายจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย และมาตรฐานให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น