วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปิดยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร


ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความหลากหลายสูง และสามารถส่งออกสินค้าเกษตรในระดับคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อยู่อันดับที่ 1-10 (Top-Ten) ของโลกหลายรายการ เช่น ไก่ปรุงสุก กุ้ง ข้าว ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน สัปปะรดกระป๋อง ลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้าเกษตรและอาหารหลายชนิดเช่น ข้าวหอมมะลิ ผลไม้เมืองร้อน  รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 ได้กำหนดให้เป็นปีเริ่มต้นแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร และอนุมัติงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร ปี 2548-2551 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบกลางให้จำนวน 2,431.281 ล้านบาท และออกพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล เพราะมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารได้ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองทางการค้าแทนระบบภาษี ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Areas : FTA ) ที่จะทำให้ภาษีนำเข้าและส่งออกลดลงจนเป็น 0 โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 (2553) อาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ได้ลดภาษีสินค้าทั้งหมดเหลือ 0% ส่วนอาเซียน 4 หรือ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ได้รับการอนุโลมให้ลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2015 (2558 ) โดยอาจยังมีสินค้าบางชนิดที่จะได้รับการยืดหยุ่นให้ลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2561 ได้ (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว และสินค้าอ่อนไหวสูง ไทยมีสินค้าอ่อนไหว 4 รายการที่จะลดภาษีเหลือ 5% ได้แก่ ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง มันฝรั่ง และกาแฟ)
 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นการยกระดับแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยอาหารซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินงานให้เป็นแหล่งสินค้าเกษตรและอาหารของโลกที่ปลอดภัยนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารขึ้น โดยขยายขอบเขตของยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุม และเน้นให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการค้าปัจจุบัน  ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยได้มาตรฐานของโลกนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง
ยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 – 2556 ซึ่งมีที่มาจากกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ตามยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยมีแนวทางในการปรับโครงสร้างการผลิตและคุณค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศไทยสูงขึ้น บนฐานความรู้และความเป็นไทย ซึ่งสรุปได้ 5 ประเด็น คือ 1) ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหาร 2) เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก 3)เป็นแหล่งสนับสนุนสาขาอื่นนอกจากอาหาร  4)สนับสนุนการผลิตสินค้าที่มีโอกาสใหม่และสินค้าที่สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ 5)เป็นฐานรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาเป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร โดยกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาการเกษตรไว้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1) ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร 2) ยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเกษตร 3) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร 4) ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้กับรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ได้แก่ นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ(ภาคเกษตร) โดยส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การวิจัยและพัฒนามาตรฐานการผลิต ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากลในระดับชุมชน และมีการเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างความมั่นคงด้านอาหารโดยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ โดยพัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยตามาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์
วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 – 2554 คือ
สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและตลาดโลก (Standard and Safety for All) ”
โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ดังนี้
1.    เพื่อยกระดับด้านมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ และของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ
2.    เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศอย่างยั่งยืนโดยการใช้มาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
3.    เพื่อสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย (Demand-Driven) โดยสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญตลอดจนความรู้ความเข้าใจถูกต้องเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

4.    เพื่อบูรณการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินการแผนงาน โครงการ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น จึงได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาสินค้าเกษตรและคุณภาพรายสินค้าพืช ประมง ปศุสัตว์
                มีเป้าหมายอยู่ที่สินค้าที่มีปัญหาแหล่งรับซื้อ ขาดแคลนผลผลิตคุณภาพ และสินค้าที่สามารถยกระดับคุณภาพได้สูงหากมีตลาดแน่นอน เช่น พริก วัตถุดิบเครื่องแกงอื่น ๆ ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) ยกระดับมาตรฐานการผลิตแบบครบวงจร 2) พัฒนาเครือข่ายต้นแบบกลุ่มและการเชื่อมโยงผลผลิต 3) การนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนผู้ผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
                มีเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มจำนวนฟาร์มมาตรฐานของเกษตรกร และจำนวนสถานประกอบการ โรงงานขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ได้มาตรฐาน โดยครอบคลุม พืช ประมง ปศุสัตว์ ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) ตรวจรับรองฟาร์มโรงงานและสถานประกอบการ 2) จัดระบบการรับรองฟาร์มมาตรฐาน 3) ยกระดับผู้ผลิตและผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดสินค้าคุณภาพ
มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added and Value Creation) ความปลอดภัย และความหลากหลายให้กับผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างแหล่งจำหน่ายสินค้า Q ให้เป็นเครือข่ายรองรับผลผลิตที่ได้รับการรับรอง ขับเคลื่อนด้วย 2 กลยุทธ์ คือ 1) วิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนด้านคุณภาพมาตรฐาน 2) ส่งเสริมและรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพ Q
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐาน
มีเป้าหมายอยู่ที่การให้ความสำคัญกับผู้รับซื้อผลผลิตและกลุ่มผู้บริโภคเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพมาตรฐาน (Demand Driven) รวมทั้งกลุ่มผู้ผลิต เพื่อสร้างกระแสความรับผิดขอบตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการสร้างคุณภาพมาตรฐานในสินค้าที่ตนเองผลิต และสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารให้กับผู้บริโภค ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) พัฒนาระบบอาหารศึกษาและองค์ความรู้ 2)ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านมาตรฐาน 3)สร้างเครือข่ายความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
มีเป้าหมายอยู่ที่สินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับด้านมาตรฐานความปลอดภัยจากผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) สร้างกลไกการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร 2) จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับและระบบเตือนภัย 3) จัดแสดงนิทรรศการระบบมาตรฐานและสินค้าคุณภาพสร้างภาพลักษณ์ในต่างประเทศ

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเกษตร  และเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของ มกอช. ในการผลักดันยุทธศาสตร์ฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ที่วางไว้ จึงเร่งดำเนินงานในหลาย ๆ ด้านไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดและผลักดันมาตรฐานของสินค้าเกษตรหลาย ๆ ชนิดออกมาใช้ จัดทำระบบรับรองมาตรฐานให้ครอบคลุมทุกระบบ และผลักดันให้ระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีให้มากขึ้น โดยจัดทำระบบการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม เพื่อให้เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรชนิดเดียวกัน มีการรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เกิดการขยายตัวของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน และเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยได้มาตรฐานในตลาดมากขึ้น
รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศรู้จักเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรของไทย ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมและรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพภายใต้โครงการ Q Restaurant สำหรับร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ได้รับเครื่องหมาย Q และจัดนิทรรศการแสดงระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินงานสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและตลาดโลก (Standard and Safety for All) ”

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Q สัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย จากไร่นาสู่ผู้บริโภค

  You are What you eat กินอย่างไรเป็นอย่างนั้น ประโยคนี้เป็นความจริงที่สะท้อนให้เห็นได้ในปัจจุบัน ว่าการกินอาหารที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้เกิดโรคภัยตามมา ผลงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น บ่งชี้ว่า อาหารทำให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางเดินกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ ฯลฯ
          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ส่งเสริม และพัฒนาการผลิตอาหารปลอดภัยได้มาตรฐาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร 2553-2556 โดยมีวิสัยทัศน์ คือ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและตลาดโลก (Standard and Safety for All) ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ และของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยอย่างยั่งยืนโดยการใช้มาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
          งาน มติชน เฮลธ์แคร์ 2011 “ลดทุกข์ สุขเพิ่ม  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ภายในงาน ระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายน 2554 ณ ห้องแพลนนารี่ฮอลล์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพของคนไทยด้วยการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย ภายใต้แนวคิด สินค้าเกษตรปลอดภัย จากไร่นาสู่ผู้บริโภค โดยจะมีการจัดแสดงสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าเกษตรนั้นเป็นสินค้าเกษตรที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งสินค้าในหมวดคุณภาพ ความงาม ที่ผลิตจากสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ราคาพิเศษสุด จากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว และกรมหม่อนไหม

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มกอช. จับมืออียู ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารของอาเซียนสู่ตลาดโลก

     ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  ได้เกิดวิกฤติการณ์เกี่ยวกับอาหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิกฤติการณ์เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น เรื่องเชื้อซัลโมเนลลาในมะเขือเทศที่สหรัฐอเมริกา หรือเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น เมลามีนในนมผงทารก ทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนกและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น  ดังนั้นหากประเทศใดสามารถสร้างระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยด้านอาหารหรือโรคระบาดจากอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หรือป้องกันและควบคุมจำกัดความเสียหายได้อย่างรวดเร็วแล้ว นอกจากจะทำให้ประชาชนในประเทศมีหลักประกันความปลอดภัยทางอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจในระบบอาหารปลอดภัยของประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับวิกฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยด้านอาหารดังกล่าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Food Safety Crisis Management ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2554 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ก ชั้น 7 ห้อง Conservatory กรุงเทพฯ
การฝึกอบรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Better Training for Safer Food จากกฎเกี่ยวกับอาหารและการนำเข้าอาหารของสหภาพยุโรป โดยครอบคลุมการแนะนำระบบและกลไกการจัดการวิกฤติการณ์ด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพของสหภาพยุโรป ทั้งระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติการในภาพรวมและการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกันเองและกับประเทศนอกสหภาพยุโรป  การจัดการวิกฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยอาหารที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด หรือการระบาดของโรคที่เกิดจากอาหาร โดยมีการฝึกทดลองปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากกรณีศึกษาเหตุการณ์จริงวิกฤติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว โดยวิทยากรจากสหภาพยุโรป  และการฝึกปฎิบัติการใช้ระบบแจ้งเตือนสินค้าเกษตร อาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียนซึ่ง มกอช.ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากระบบเตือนภัยเร่งด่วนอาหารและอาหารสัตว์ของสหภาพยุโรปจากสหภาพยุโรป
การฝึกอบรมดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเชื่อมั่นอาหารปลอดภัย ของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารของอาเซียนสู่ตลาดโลก
เนื้อข่าว โดย กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
เรียบเรียง โดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักส่งเสริมมาตรฐานฯ

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เปิดยุทธศาสตร์เส้นทางอาหารปลอดภัยในทศวรรษใหม่ กับ มกอช.

       หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดเส้นทางบกขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนด้วยเส้นทาง R3 ภายใต้ พิธีสารฯ บันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งสองประเทศได้ว่า ผลไม้ที่นำเข้าและส่งออกจากทั้งสองประเทศจะมีมาตรฐานความปลอดภัย และคุณภาพที่เท่าเทียมกัน โดยผ่านการตรวจสอบและรับรองสินค้าภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว
          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินหน้าต่อด้วยการศึกษาข้อมูลเตรียมเปิดเส้นทางใหม่ เช่น R8 และ R12 เพื่อเป็นการเปิดช่องทางในการกระจายสินค้าเกษตรออกนอกประเทศ ป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ลำไย ลองกอง เงาะ มังคุด ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นการขยายตลาด และผู้บริโภคในจีนให้รู้จักผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออก และรายได้ให้กับเกษตรกรไทย
นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในการแถลงข่าว เปิดยุทธศาสตร์เส้นทางอาหารปลอดภัยในทศวรรษใหม่ กับ มกอช. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554 ณ โรงแรมพูลแมน พัทยา จังหวัดชลุบรี ว่า ประเทศจีน เป็นประเทศขนาดใหญ่ ที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการทั้งที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เมื่อความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศจีน  รวมทั้งอาจจะมีการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ที่อยู่ในเส้นทางขนส่ง เช่น ลาว และเวียดนาม นอกจากนี้ ด้วยข้อตกลงร่วมกันในการขนส่งสินค้าเข้าออก จะนำมาซึ่งการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรของทั้งสองประเทศ ที่ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าหรือส่งออกจากทั้งสองประเทศ ว่ามีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานหรือไม่ มีการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งที่ปลอดภัย ไม่มีการปลอมปนสินค้า และสามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ ที่ผ่านมาด้วยราคาของสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงกว่าการจำหน่ายภายในประเทศได้สร้างแรงผลักดันให้เกิดกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการส่งออก ซึ่งหากการส่งออกมีการขยายตัวมากขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่ระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น จนอาจจะกลายเป็นค่านิยมและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐานไม่เฉพาะเพื่อการส่งออก แต่เพื่อเกษตรกรผู้ผลิตเองที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และผู้บริโภคภายในประเทศที่จะได้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยเท่าเทียมกับผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของโลกอย่างแท้จริง
ด้วยโอกาสทางการตลาดที่พร้อมรับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานทั่วประเทศ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ยังคงมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน กำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน รวมถึงเข้าร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับสุขอนามัย สินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

สถาบันอุดมศึกษากับบทบาทของเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในเรื่องของการเป็นแหล่งผลิตบุคลากรคุณภาพทางการเกษตร ที่ก้าวเข้าสู่สังคมด้วยการเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าด้านวิชาการทางการเกษตรทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวจึงมีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัย และการจัดการกระบวนการผลิตในฟาร์มให้แก่นิสิต นักศึกษา ผู้นำเกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ/เอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกร หรือแม้กระทั่งผู้ตรวจประเมินภายในของกลุ่มเกษตรกรเอง เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป
ในปัจจุบัน มาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice : GAP)  จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และยังเป็นการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และความปลอดภัย  ช่วยเสริมจุดแข็งให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เกษตรกรจึงให้ความสนใจยื่นขอการรับรองฟาร์มมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากการกระบวนการรับรองมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียน การถ่ายทอดความรู้ การคัดเลือกเบื้องต้น การตรวจ และการรับรอง ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้เพิ่มทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร ด้วยการจัดทำโครงการการรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรชนิดเดียวกันเข้าสู่ระบบมาตรฐานทางการเกษตรพร้อมกันหลาย ๆ ฟาร์ม โดยนำหลักการควบคุมภายใน (International Control System : ICS) จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ International Federation of Agriculture Movements (IFOAM) มาปรับประยุกต์ใช้ควบคู่การผลิตสินค้าเกษตรตาม GAP ซึ่งหากโครงการประสบความสำเร็จ ภายในปี 2554 ก็จะมีกลุ่มเกษตรกรไม่น้อยกว่า ๒๐ กลุ่ม ผ่านการรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม
          นอกจากนี้ มกอช. ยังหาทางเลือกเพิ่มเติม โดยมุ่งเป้าไปที่สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการทางการเกษตร โดยเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเข้ามาเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ที่สามารถตรวจประเมินการจัดทำระบบมาตรฐานต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมหรือฟาร์มเกษตรกร และให้การรับรองระบบ รวมทั้งออกใบรับประกันสุขภาพพืชและใบรับประกันสุขภาพสัตว์เพื่อการส่งสินค้าออกได้ ซึ่งหากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพเหล่านั้น สามารถผ่านการรับรองระบบงานจาก มกอช. จนสามารถเป็นหน่วยรับรองได้แล้ว ก็จะช่วยกระจายจำนวนเกษตรที่ยื่นขอรับรองฟาร์มมาตรฐาน และขยายจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย และมาตรฐานให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สินค้าเกษตรก้าวไกล ตามสอบสินค้าได้ด้วย QR-Code

     
      แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีการเปิดเสรีมากขึ้น ทำให้มาตรการทางภาษีลดน้อยลงจนอาจเป็นศูนย์ และทำให้มาตรการอื่น ๆ  ที่มิใช่ภาษี ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น อาทิ สุขอนามัย และสุขอนามัยพืช มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานมาโดยตลอด นอกจากนั้น ยังมีการขับเคลื่อนด้านดังกล่าวทั้งระบบผ่านยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร พ.ศ. 2553-2556 ซึ่งจะเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่ระดับไร่นา ไปจนถึงโรงงานแปรรูป อันจะทำให้ทุกฝ่ายรับประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเมื่อสินค้ามีคุณภาพ ผู้บริโภคก็จะเกิดความเชื่อมั่น ราคาผลผลิตจะปรับสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ประสานความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ 5 ผู้ประกอบการ ได้แก่ กลุ่มบริษัทในเครือเบทาโกร จำกัด (มหาชน) สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด บริษัท ธานียามา สยาม จำกัด บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด และบริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด  ร่วมกันพัฒนาระบบการใช้รหัสมาตรฐานสากล แบบ 1D และ 2D บาร์โค้ด (QR Code) บนกล่องบรรจุสินค้าเกษตรและอาหารส่งออก ภายใต้โครงการนำร่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารตามาตรฐานสากล โดยนำร่องในสินค้า 2 ชนิด คือ ไก่ และมะม่วงเพื่อการส่งออก จำนวนเกษตรกร 675 ราย โดยคาดว่าในปีต่อ ๆ ไปจะเพิ่มขึ้นทั้งชนิด สินค้า และจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการใช้รหัสมาตรฐานสากลแสดงที่แปลงสินค้าเกษตรแบบ 1D และ 2D บาร์โค้ดบนกล่องสินค้านี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตามสอบถึงแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิตสินค้าได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเรียกดูข้อมูลได้ทันที  นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าและผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงยังเป็นการสร้างจุดแข็ง และเพิ่มข้อได้เปรียบในการเจรจาการค้ากับประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพ ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกและคู่ค้ารายสำคัญของไทย
โครงการนี้สามารถรองรับการกำหนดแหล่งที่ตั้งของแปลงเกษตรกรหรือสินค้าเกษตรในอนาคตได้มากถึง 9,999,999 แปลง/ชนิด โดย มกอช. เป็นผู้บริหารจัดการระบบหมายเลขรหัส ซึ่งกำลังขยายผลการนำระบบตามสอบสินค้า (Traceability) ด้วยรหัสมาตรฐานสากลแบบ 1D และ 2D บาร์โค้ด (QR Code) ไปใช้กับเนื้อวัว และเนื้อหมู ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่หากมีระบบการตามสอบที่ทันสมัย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ส่งออกและผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น

มกอช. หน่วยรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติ

              องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบ (International Accreditation Forum : IAF) ได้ออกมาประกาศการยอมรับความเท่าเทียมในขอบข่ายการรับรองผลิตภัณฑ์ (Multilateral Recognition Arrangement : MLA) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศถึงความสามารถของ มกอช. ในการรับรองระบบงาน ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากประเทศสมาชิกของ IAF กว่า 50 ประเทศ ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มองค์กรภูมิภาคแปซิฟิคว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The Pacific Accreditation Cooperation : PAC) กลุ่มองค์กรภูมิภาคยุโรปว่าด้วยการรับรองระบบงาน (European Cooperation for Accreditation : EA) กลุ่มองค์กรภูมิภาคแอฟริกาใต้ว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Southern African Region Accreditation Cooperation : SARAC) และกลุ่มองค์กรภูมิภาคอเมริกาว่าด้วยการรับรองระบบงาน (InterAmerican Accreditation Cooperation : IAAC)
การได้รับการยอมรับในความเท่าเทียมดังกล่าว จะทำให้ มกอช. ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในระดับสากลจากประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลให้การรับรองผลิตภัณฑ์ด้านสินค้าเกษตร ภายใต้การรับรองระบบงานโดย มกอช. เช่น GAP และ Organic เป็นที่ยอมรับของหน่วยรับรองระบบงาน สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ได้รับการรับรองเป็นที่เชื่อถือ ก่อให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารได้มากยิ่งขึ้น เพราะสามารถส่งออกสินค้าได้สะดวกและง่ายขึ้น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายจากการตรวจสอบซ้ำซ้อน ลดข้อกีดกันหรืออุปสรรคเทคนิคทางการค้าระหว่างประเทศ จากการยอมรับของประเทศคู่ค้า อีกทั้งสามารถให้เกิดการรับรองครั้งเดียวเป็นที่ยอมรับภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วม (Multilateral Recognition Arrangement : MRA) ตามกลไกการตรวจประเมิน เพื่อการยอมรับร่วม
                ขณะนี้ มกอช. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดให้การรับรองระบบงานในขอบข่ายด้านการจัดการความปลอดภัยอาหาร ตาม ISO/TS 22003 เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการอาหารที่ตื่นตัวขอรับรองระบบ เนื่องจากประเทศคู่ค้าให้ความสำคัญ และต้องการสินค้าที่มาจากประเทศที่มีโรงงานที่มีระบบ Food Safety ประกันความปลอดภัยของสินค้าตลอดระบบห่วงโซ่อาหารมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีระบบการรับรองมาตรฐาน BRC (British retail Consortium) หรือมาตรฐานสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่ง สหราชอาณาจักร ที่ผู้ประกอบการค้าปลีก เช่น Tesco Waitrose และ Safeway นำมาใช้เป็นข้อกำหนดในการรับรองสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหราชอาณาจักรและกลุ่ม EU ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกเหล่านี้เป็นช่องทางที่จะช่วยกระจายสินค้าเกษตรไทยไปสู่ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยคาดว่าจะเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อการรับรองทั้งสองระบบ ได้ภายในปี 2554

R3 : เปิดเส้นทางสินค้าเกษตรปลอดภัย รับการขยายตัวภาคการเกษตรในอนาคต

    
     จากการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้มีการขยายตัวทางการค้าผลไม้ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นไม่ต่ำว่า 10 % มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทแล้ว ผู้บริโภคทั้งสองประเทศยังสามารถมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่ผ่านเข้าออกจากเส้นทาง R3 จะเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยจากต้นทางทั้งสองประเทศ
          สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลเรื่องความปลอดภัยอาหารของประเทศ ได้จัดทำพิธีสารข้อกำหนดในการเจรจากับกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ซึ่งกล่าวถึง ชนิดของผลไม้และข้อมูลที่ทั้งสองฝ่ายต้องส่งให้แก่กันในกรณีมีการร้องขอ วิธีการขนส่งผลไม้ระหว่างกัน มาตรการก่อนการส่งออก (ได้แก่ การตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช การรับรองแหล่งกำเนิดของผลไม้ การปิดผนึก ตู้สินค้า การแสดงหมายเลขกำกับผนึกปิดตู้สินค้าการเพิ่มเส้นทางการขนส่ง และมาตรการตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะมีการลงนามดังกล่าว เพื่อให้ทั้งสองประเทศมั่นใจถึงความปลอดภัยในผลไม้ที่ผ่านเข้าออกสู่ผู้บริโภคในประเทศ
          จากข้อตกลงและความร่วมมืออันดีระหว่างสองประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านเส้นทางบก จึงได้มอบหมายให้ มกอช. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาประเมินผลการเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกตามเส้นทาง R9 R3 และประเมินศักยภาพการเปิดเส้นทางขนส่งอื่น ๆ เช่น เส้นทาง R12 ไทย(นครพนม)-นาพาว(ลาว)-จาลอ-วิงห์-ฮานอย(เวียดนาม)-จีน(ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) หรือ เส้นทาง R8 ไทย(กรุงเทพฯ-หนองคาย) – ปากซัน – น้ำทอน(ลาว) – เกาแจว-วิงห์-ฮานอย(เวียดนาม)-จีน(ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) รวมทั้งศึกษาถึงข้อดี/ข้อเสียของการเปิดเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำโขง และพิจารณาการขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ผัก สินค้าประมง ระหว่างกัน ผ่านเส้นทางขนส่งทางบกสายต่าง ๆ และรวมถึงการขนส่งทางน้ำอีกด้วย
หากมองในแง่ของโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับจีนแล้ว ไทยมีศักยภาพการผลิตของสินค้าหลายชนิดที่ยังคงได้เปรียบที่สามารถผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเทียบกับประเทศจีนและคู่แข่งขัน ซึ่งตลาดจีนจะเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวการส่งออกของไทยได้ เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมาก ประมาณ 1,341 ล้านคน และเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีเสถียรภาพ รายได้ของประชากรดีขึ้น โดยเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง หนานหนิง ฟูเจียน เซียะเหมิน ปักกิ่ง และเฉินตู เป็นต้น นับเป็นโอกาสในการเจาะตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดเส้นทางในการการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีนจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออก และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย