การส่งออก “ผลไม้ฉายรังสี” ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาได้เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา เนื่องจากเข้าสู่ปลายฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งยังมีฝนตกหนักและเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นโรงคัดบรรจุ(Packing house) โรงงานผลิตกล่องและการขนส่งไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับไม่มีผู้แจ้งความประสงค์จะส่งออกในช่วงน้ำท่วมด้วย กระทรวงเกษตรฯสหรัฐจึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับรองของสหรัฐฯเดินทางกลับก่อนกำหนด 2 สัปดาห์ จากกำหนดกลับเดิมวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เพราะมีความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย
นอกจากนั้นบริษัท บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC) ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ภายใต้ “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา” และมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานของ BCC ว่า เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปยังสหรัฐฯด้วย ...ซึ่งข้อเท็จจริงของประเด็นนี้...ที่นี่มีคำตอบ
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ชี้แจงว่า กระบวนการคัดเลือกผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ มกอช.ดำเนินการอย่างถูกต้องและโปร่งใส โดยมีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิจารณาด้วย ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โรงงานฉายรังสีทั้ง 2 แห่ง กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคัดเลือก BCC ให้เป็นผู้ประสานงานโครงการฯ เพราะ BCC ได้เสนอแผนครบถ้วนทั้งแผนการดำเนินงาน แผนการเงิน รวมทั้งแผนการสนับสนุนอื่นๆ โดยเฉพาะแผนสนับสนุนภาครัฐในการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานและความถูกต้องของผลผลิตที่ส่งออก
ขณะเดียวกัน BCC ยังมีประสบการณ์ในวงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหรัฐฯ รวมทั้งทีมผู้บริหาร BCC มีอดีตรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญและยังมีประสบการณ์ด้านผลไม้ฉายรังสี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานในฐานะผู้ประสานงานคณะกรรมการสนับสนุน และติดตามดูแลการประสานตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนการส่งออกไทย-สหรัฐฯ
สำหรับกรณี BCC เสนอเก็บเงินล่วงหน้าจากผู้ส่งออกนั้น BCC เสนอเก็บเงินสด 50 % หรือ 100 % ของหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร (หนังสือ L/G) จากปริมาณการส่งออกที่ผู้ส่งออกแต่ละรายเป็นผู้ประมาณการเองจากระยะเวลา 3 เดือนล่วงหน้า ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า เป็นเรื่องปกติทางการค้าที่ผู้ประกอบการต้องสามารถวางแผนงานล่วงหน้าได้จึงจะทำการค้าได้ และจากหลักการที่สหรัฐฯเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจากประเทศไทยก่อนจึงจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับรองมาปฏิบัติงาน ทาง BCC ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ ให้ผู้ส่งออกผลไม้ชำระเงินล่วงหน้าเพื่อนำเจ้าหน้าที่มาบริการตัวเอง ขณะที่ BCC ได้ร่วมชำระเงินล่วงหน้า 50 % สบทบกับผู้ส่งออกตามปริมาณของสินค้าแต่ละรายอย่างเท่าเทียมกันทุกราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯมาปฏิบัติงาน ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า มีความยุติธรรม และผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ผู้ส่งออก
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยยืนยันว่า ระบบการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปยังสหรัฐฯ เป็นไปตามสัญญาการดำเนินงานที่กรมวิชาการเกษตรและ มกอช. ลงนามกับกระทรวงเกษตรฯ ของสหรัฐฯ มาโดยตลอด และปัจจุบัน BCC ก็ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรฯของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการแล้ว โดยได้เข้ารับหน้าที่ผู้ประสานงานมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 และตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)เดินทางไปประชุมหารือกับกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานเรื่องการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไทยไปสหรัฐอเมริกาในวันที่ 13 มกราคม 2555 พร้อมทั้งแนะนำผู้ประสานงานโครงการตรวจสอบก่อนส่งออกรายใหม่ของไทย คือ BCC ผลปรากฎว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสัญญา 2 ฉบับ กับ BCC เรียบร้อยแล้ว คือ สัญญาการให้บริการ และสัญญาการเงิน ซึ่ง BCC ได้ดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆกับสหรัฐครบถ้วนสมบูรณ์แล้วรวมทั้งการโอนเงินล่วงหน้าให้กับกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสหรัฐที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในไทย การลงนามดังกล่าวจึงถือเป็นการรับรองสถานภาพการเป็นผู้ประสานงานของบริษัท BCC โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอย่างสมบูรณ์และเป็นทางการ
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นายธรรศ ทังคสมบัติ ซึ่งเป็นผู้บริหาร BCC ในฐานะผู้ประสานงานโครงการได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงเกษตรสหรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาประจำที่ไทยตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไทยไปสหรัฐอเมริกาที่ต้องมีการตรวจสอบร่วมกันของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรสหรัฐ ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ไทยจะเริ่มส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง โดยสินค้าที่ส่งออกทางเครื่องบินคงจะเริ่มวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐกลางเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนสินค้าที่ส่งออกทางเรือคงจะเริ่มวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกาประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ได้ร่วมลงนามสัตยาบันกับ BCC ในข้อตกลงการใช้บริการรวมทั้งสิ้น 6 บริษัทแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเมื่อเข้าสู่ฤดูการผลิตผลไม้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม คาดว่าจะมีบริษัทเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีก
ผอ.มกอช. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเปิดตลาดส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกาได้ทั้งสิ้น 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด เงาะ สับปะรด แก้วมังกร ที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไทยไปสหรัฐมีมูลค่าปีละประมาณ 200 ล้านบาท และลดลงมาเหลือ 59 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 การส่งออกหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ขณะนี้ ปัญหาน้ำท่วมก็คลี่คลายแล้ว รวมทั้ง ปัญหาการบริหารจัดการก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและจัดระบบต่างๆใหม่ จึงมีความมั่นใจว่าการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไทยไปสหรัฐจะเป็นไปด้วยดีเนื่องจากศักยภาพของตลาดสหรัฐ ซึ่งมีความต้องการนำเข้าผลไม้สดจากไทยประมาณ 2,000–3,000 ตัน/เดือน หรือประมาณ 24,000-36,000 ตัน / ปี