วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปิดยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร


ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความหลากหลายสูง และสามารถส่งออกสินค้าเกษตรในระดับคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อยู่อันดับที่ 1-10 (Top-Ten) ของโลกหลายรายการ เช่น ไก่ปรุงสุก กุ้ง ข้าว ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน สัปปะรดกระป๋อง ลำไย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้าเกษตรและอาหารหลายชนิดเช่น ข้าวหอมมะลิ ผลไม้เมืองร้อน  รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 ได้กำหนดให้เป็นปีเริ่มต้นแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร และอนุมัติงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร ปี 2548-2551 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบกลางให้จำนวน 2,431.281 ล้านบาท และออกพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล เพราะมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารได้ถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองทางการค้าแทนระบบภาษี ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Areas : FTA ) ที่จะทำให้ภาษีนำเข้าและส่งออกลดลงจนเป็น 0 โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 (2553) อาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ได้ลดภาษีสินค้าทั้งหมดเหลือ 0% ส่วนอาเซียน 4 หรือ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ได้รับการอนุโลมให้ลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2015 (2558 ) โดยอาจยังมีสินค้าบางชนิดที่จะได้รับการยืดหยุ่นให้ลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2561 ได้ (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว และสินค้าอ่อนไหวสูง ไทยมีสินค้าอ่อนไหว 4 รายการที่จะลดภาษีเหลือ 5% ได้แก่ ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง มันฝรั่ง และกาแฟ)
 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นการยกระดับแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยอาหารซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินงานให้เป็นแหล่งสินค้าเกษตรและอาหารของโลกที่ปลอดภัยนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารขึ้น โดยขยายขอบเขตของยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุม และเน้นให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการค้าปัจจุบัน  ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยได้มาตรฐานของโลกนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง
ยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 – 2556 ซึ่งมีที่มาจากกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ตามยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน โดยมีแนวทางในการปรับโครงสร้างการผลิตและคุณค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศไทยสูงขึ้น บนฐานความรู้และความเป็นไทย ซึ่งสรุปได้ 5 ประเด็น คือ 1) ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหาร 2) เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก 3)เป็นแหล่งสนับสนุนสาขาอื่นนอกจากอาหาร  4)สนับสนุนการผลิตสินค้าที่มีโอกาสใหม่และสินค้าที่สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ 5)เป็นฐานรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาเป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร โดยกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาการเกษตรไว้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1) ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร 2) ยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเกษตร 3) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร 4) ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้กับรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ได้แก่ นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ(ภาคเกษตร) โดยส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การวิจัยและพัฒนามาตรฐานการผลิต ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารตามมาตรฐานสากลในระดับชุมชน และมีการเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างความมั่นคงด้านอาหารโดยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ โดยพัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยตามาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์
วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553 – 2554 คือ
สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและตลาดโลก (Standard and Safety for All) ”
โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ดังนี้
1.    เพื่อยกระดับด้านมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ และของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ
2.    เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศอย่างยั่งยืนโดยการใช้มาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
3.    เพื่อสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย (Demand-Driven) โดยสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญตลอดจนความรู้ความเข้าใจถูกต้องเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

4.    เพื่อบูรณการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินการแผนงาน โครงการ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน องค์กรบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่น ๆ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น จึงได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาสินค้าเกษตรและคุณภาพรายสินค้าพืช ประมง ปศุสัตว์
                มีเป้าหมายอยู่ที่สินค้าที่มีปัญหาแหล่งรับซื้อ ขาดแคลนผลผลิตคุณภาพ และสินค้าที่สามารถยกระดับคุณภาพได้สูงหากมีตลาดแน่นอน เช่น พริก วัตถุดิบเครื่องแกงอื่น ๆ ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) ยกระดับมาตรฐานการผลิตแบบครบวงจร 2) พัฒนาเครือข่ายต้นแบบกลุ่มและการเชื่อมโยงผลผลิต 3) การนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนผู้ผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
                มีเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มจำนวนฟาร์มมาตรฐานของเกษตรกร และจำนวนสถานประกอบการ โรงงานขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ได้มาตรฐาน โดยครอบคลุม พืช ประมง ปศุสัตว์ ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) ตรวจรับรองฟาร์มโรงงานและสถานประกอบการ 2) จัดระบบการรับรองฟาร์มมาตรฐาน 3) ยกระดับผู้ผลิตและผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดสินค้าคุณภาพ
มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added and Value Creation) ความปลอดภัย และความหลากหลายให้กับผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างแหล่งจำหน่ายสินค้า Q ให้เป็นเครือข่ายรองรับผลผลิตที่ได้รับการรับรอง ขับเคลื่อนด้วย 2 กลยุทธ์ คือ 1) วิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนด้านคุณภาพมาตรฐาน 2) ส่งเสริมและรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพ Q
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐาน
มีเป้าหมายอยู่ที่การให้ความสำคัญกับผู้รับซื้อผลผลิตและกลุ่มผู้บริโภคเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพมาตรฐาน (Demand Driven) รวมทั้งกลุ่มผู้ผลิต เพื่อสร้างกระแสความรับผิดขอบตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการสร้างคุณภาพมาตรฐานในสินค้าที่ตนเองผลิต และสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารให้กับผู้บริโภค ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) พัฒนาระบบอาหารศึกษาและองค์ความรู้ 2)ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านมาตรฐาน 3)สร้างเครือข่ายความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
มีเป้าหมายอยู่ที่สินค้าเกษตรและอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับด้านมาตรฐานความปลอดภัยจากผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ ขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1) สร้างกลไกการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร 2) จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับและระบบเตือนภัย 3) จัดแสดงนิทรรศการระบบมาตรฐานและสินค้าคุณภาพสร้างภาพลักษณ์ในต่างประเทศ

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเกษตร  และเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของ มกอช. ในการผลักดันยุทธศาสตร์ฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ที่วางไว้ จึงเร่งดำเนินงานในหลาย ๆ ด้านไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดและผลักดันมาตรฐานของสินค้าเกษตรหลาย ๆ ชนิดออกมาใช้ จัดทำระบบรับรองมาตรฐานให้ครอบคลุมทุกระบบ และผลักดันให้ระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีให้มากขึ้น โดยจัดทำระบบการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม เพื่อให้เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรชนิดเดียวกัน มีการรวมกลุ่ม และสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เกิดการขยายตัวของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน และเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยได้มาตรฐานในตลาดมากขึ้น
รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศรู้จักเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรของไทย ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมและรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพภายใต้โครงการ Q Restaurant สำหรับร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ได้รับเครื่องหมาย Q และจัดนิทรรศการแสดงระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินงานสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและตลาดโลก (Standard and Safety for All) ”

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Q สัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย จากไร่นาสู่ผู้บริโภค

  You are What you eat กินอย่างไรเป็นอย่างนั้น ประโยคนี้เป็นความจริงที่สะท้อนให้เห็นได้ในปัจจุบัน ว่าการกินอาหารที่ไม่ปลอดภัย อาจทำให้เกิดโรคภัยตามมา ผลงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น บ่งชี้ว่า อาหารทำให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางเดินกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ ฯลฯ
          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ส่งเสริม และพัฒนาการผลิตอาหารปลอดภัยได้มาตรฐาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐาน ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร 2553-2556 โดยมีวิสัยทัศน์ คือ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อคนไทยและตลาดโลก (Standard and Safety for All) ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ และของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยอย่างยั่งยืนโดยการใช้มาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
          งาน มติชน เฮลธ์แคร์ 2011 “ลดทุกข์ สุขเพิ่ม  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ภายในงาน ระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายน 2554 ณ ห้องแพลนนารี่ฮอลล์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพของคนไทยด้วยการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย ภายใต้แนวคิด สินค้าเกษตรปลอดภัย จากไร่นาสู่ผู้บริโภค โดยจะมีการจัดแสดงสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าเกษตรนั้นเป็นสินค้าเกษตรที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งสินค้าในหมวดคุณภาพ ความงาม ที่ผลิตจากสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ราคาพิเศษสุด จากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว และกรมหม่อนไหม